ปัจจัยความเสี่ยง
ธุรกิจเครื่องดื่ม
ความเสี่ยงตลาดเครื่องดื่มชาเขียวในต่างประเทศ
ยอดขายชาเขียวในตลาดต่างประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่การแข่งขันทางธุรกิจ ในตลาดต่างประเทศก็เพิ่มมากยิ่งขึ้นเช่นกัน อีกทั้งกฎหมายและข้อกำหนดทางธุรกิจต่าง ๆ และพฤติกรรมของผู้บริโภคในต่างประเทศก็อาจส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจได้ บริษัทจึงให้ความสำคัญในการศึกษากฎระเบียบ พร้อมกับสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ที่มีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์การทำตลาดในแต่ละประเทศ พร้อมกันกับการเข้าไปทำการตลาดโดยตรงกับผู้บริโภค จากการลงพื้นที่จัดกิจกรรมรวมถึงเน้นการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้มีความแข็งแกร่ง และเป็นที่ต้องการจากผู้บริโภคในท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งตัวแทนจำหน่ายรายหลักและเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับบริษัทหากเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ขึ้น
ความเสี่ยงในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มใหม่
ในการออกจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มใหม่แม้ว่าบริษัทจะได้มีการพิจารณาและวางแผน รวมถึงทำการทดสอบคุณภาพต่าง ๆ ทั้งทางด้านการผลิต การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การทดสอบรสชาติ การทำโฆษณาและส่งเสริมการขาย ซึ่งส่งผลให้การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ต้องมีการลงทุนที่สูง แต่ผลิตภัณฑ์ใหม่บางประเภทยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร รวมทั้งการแข่งขัน ที่รุนแรงในตลาดของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัทจึงได้เพิ่มความเข้มงวดในการเตรียม ความพร้อมในการออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มใหม่ ตั้งแต่การมุ่งเน้นในการทำความเข้าใจ ความต้องการ และคำนึงถึงสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค จนถึงความใส่ใจในคุณภาพสินค้ารวมถึงการกำหนดราคาต้นทุน ราคาจำหน่าย และการจัดกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดอย่างเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่าการออกผลิตภัณฑ์ใหม่จะประสบความสำเร็จเป็นที่นิยมของผู้บริโภค
ความเสี่ยงจากการมีแหล่งวัตถุดิบที่มีจำกัด
เนื่องจากบริษัทมีนโยบายซื้อวัตถุดิบที่มีคุณภาพเพื่อให้สามารถผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน ดังนั้น บริษัทจะไม่ซื้อวัตถุดิบบางชนิดหรือวัตถุดิบจากผู้ขายเพียงรายเดียว ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงจากการขาดแคลนหรือขาดอำนาจต่อรองทางด้านราคาได้ โดยที่ผ่านมา บริษัทกำหนดให้ฝ่ายวิจัยผลิตภัณฑ์และฝ่ายจัดซื้อดำเนินการแสวงหาผู้ขายสินค้าที่มีคุณภาพ ให้มีผู้ขายสินค้ามากรายยิ่งขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงและเพื่อผลประโยชน์สูงสุด
ความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคาวัตถุดิบ
จากการที่ราคาพลังงานชนิดต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนทั้งในส่วนของ ค่าขนส่ง เชื้อเพลิง เยื่อกระดาษ และบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากปิโตรเลียมมีความผันผวนไปตาม อุปสงค์และอุปทานของตลาด บริษัทจึงได้ดำเนินการทำสัญญาระยะปานกลางและระยะยาวกับผู้ขายบางรายเพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถลดผลกระทบกับต้นทุนของบริษัทให้ได้ มากที่สุดอีกทั้งมีการร่วมจัดซื้อกับกลุ่มบริษัท ฯ เพื่อสร้างข้อได้เปรียบในการต่อรอง และได้เพิ่มการพิจารณาการจัดซื้อวัตถุดิบต้นน้ำตามความเหมาะสม เพื่อให้สามารถจัดการ ความเสี่ยงด้านต้นทุนได้ดียิ่งขึ้น
ความเสี่ยงด้านการแข่งขันทางธุรกิจ
ด้วยสภาวการณ์การแข่งขันทางด้านธุรกิจเครื่องดื่มเป็นไปอย่างรุนแรง มีผู้ประกอบการ รายใหม่ ๆ ซึ่งมีศักยภาพสูงนำสินค้าออกสู่ตลาดพร้อมจัดกิจกรรมทางการตลาดที่รุนแรงอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม บริษัทมีนโยบายแข่งขันทางด้านภาพลักษณ์ ในรูปแบบ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ และการจัดกิจกรรมการตลาดรูปแบบต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีคุณภาพและภาพลักษณ์ที่เหนือกว่า รวมถึงบริษัท มีความเชื่อว่ายิ่งการแข่งขันมีมากเท่าใด ย่อมส่งผลดีต่อผู้บริโภคและอุตสาหกรรมเครื่องดื่มมากขึ้นเท่านั้น เพราะจะทำให้การเติบโตของตลาดในธุรกิจประเภทนี้เติบโต มากยิ่งขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลทำให้ธุรกิจของบริษัทเติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน
ความเสี่ยงจากการจัดเก็บภาษีอากร
จากมาตรการการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มทั้งในส่วนของ ตามมูลค่าและปริมาณความหวาน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งผลิตภัณฑ์ชาพร้อมดื่มถือเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มประเภทหนึ่งที่ถูกจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดังกล่าว อันส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตผลิตภัณฑ์ชาพร้อมดื่ม ของผู้ประกอบการ เป็นผลให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ ต้องมีการปรับราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้มีความเหมาะสม แต่อย่างไรก็ดี กลุ่มบริษัทโออิชิได้กำหนดแผนกลยุทธ์และมาตรการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดังกล่าวไว้เป็นการล่วงหน้าอย่างรัดกุม เช่น การกำหนดแผนงานการออกจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในขนาดบรรจุที่เหมาะสมกับราคาจำหน่ายเพื่อรักษาระดับราคาจำหน่ายให้เหมาะสมกับผู้บริโภคในแต่ละ ช่องทางการจัดจำหน่าย การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เพื่อดำเนินการตามเจตนารมณ์ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ใส่ใจในสุขภาพ ตอบสนองต่อความต้องการและกระแสความนิยมของผู้บริโภค รวมถึง การบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแผนการดำเนินงานและกลยุทธ์ต่าง ๆ สามารถช่วยบรรเทาผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดังกล่าวได้ในระดับหนึ่ง
ความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจและอุตสาหกรรมไม่เว้นแม้แต่กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิต จากวิกฤตไวรัส โควิด 19 ในช่วงที่กักตัวอยู่บ้าน ทำให้สินค้าในกลุ่มเครื่องดื่มมีการเปลี่ยนแปลงไปจากสถานการณ์ปกติ การซื้อสินค้าในลักษณะที่เป็นแพ็คหรือขนาดใหญ่ เพื่อบริโภคแบบเป็นครอบครัวมีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทได้มีการปรับตัวเพิ่มช่องทางการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งระบบอีคอมเมิร์ซและแอปพลิเคชัน และมีบริการเดลิเวอรี่ ทำให้สินค้าเครื่องดื่มโออิชิเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น ซึ่งพฤติกรรมการบริโภคและการซื้อสินค้าก็จะเปลี่ยนไป หันมาให้ความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัย การใช้บรรจุภัณฑ์อย่างเหมาะสม สามารถรักษาคุณภาพสินค้าให้คงอยู่ได้นาน สะดวกต่อการขนส่ง มีความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจเรื่องของการปลอดเชื้อให้แก่ผู้บริโภคได้ นอกจากนี้ ความใส่ใจในสุขภาพ ก็มีมากขึ้น โออิชิจึงได้มีการพัฒนาและออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มใหม่ ๆ เช่น ชาเขียว สูตรหวานน้อย และสูตรปราศจากน้ำตาล โออิชิพลัสวิตามิน C 200 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค
ธุรกิจร้านอาหาร
ความเสี่ยงจากโครงสร้างประชากรและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
โลกกำลังอยู่ในกระแสการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและวิถีการใช้ชีวิตของเราทุกคน ถ้าเรามองข้ามช่วงวิกฤต ไวรัสโควิด 19 ออกไประยะยาว ช่วงที่ผู้คนเลิกกังวลเรื่องความเสี่ยงของโรคระบาดนี้ เชื่อว่าเหตุการณ์ไวรัสโควิด 19 ครั้งนี้ เป็นเสมือนตัวเร่งปฏิกิริยาให้หลาย ๆ เทรนด์ที่แต่เดิมเชื่อว่าจะใช้เวลาอีกนานหลายปี กลับมาทำให้เกิดเร็วขึ้น
อินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานและเข้าถึงได้ทุกที่ที่ผสมผสานความสะดวกสบายในการใช้งาน การทำงานจากที่บ้าน การเรียนออนไลน์ จนมาถึงการจับจ่ายใช้สอย ในชีวิตประจำวัน จากไวรัสโควิด 19 ที่เร่งพฤติกรรมผู้บริโภคมาดิจิทัลมากขึ้น ในวันนี้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ไม่ว่าจะเป็น อีมาร์เก็ตเพลส บริการเดลิเวอรี่ออนไลน์ทั้งการสั่งซื้ออาหาร หรือสินค้า จะเป็นออนไลน์แพลตฟอร์มที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นและเกิดการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากผู้บริโภคถูกบังคับให้ไปดิจิทัลจากไม่มีสถานที่อื่น ๆ ให้ซื้อสินค้า เพราะผู้บริโภคยังมีความต้องการที่จะซื้อสินค้าแต่ไม่สามารถออกไปซื้อได้ด้วยตัวเอง จากความต้องการที่จะลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตนอกบ้าน และเกิดความเคยชินกับการซื้อขายออนไลน์จนเป็นพฤติกรรมต่อเนื่องที่เน้นความสะดวกสบายและประหยัดเวลามากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดกลางและเล็ก สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ง่ายดายมากขึ้น หรือแม้แต่การขายโดยไม่ต้องมีหน้าร้านหรือสต๊อกสินค้า ดังนั้นจากความสะดวกสบายที่ได้รับ สิ่งเหล่านี้นับเป็นการกระตุ้นให้แบรนด์ต้องพาตัวเองสู่ระบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการตลาด และการเข้าสู่ระบบออนไลน์ไม่ได้แค่เพียงยอดขาย แต่ยังได้ดาต้าเบสของผู้บริโภคเพื่อให้แบรนด์รู้จักผู้บริโภคมากขึ้นและนำมาใช้ในการทำการตลาด ในการเพิ่มยอดจำหน่ายผ่านการซื้อซ้ำ ขยายฐานลูกค้า และการนำบิ๊กดาต้ามาใช้ในการจัดการในด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การเติบโตของการใช้งานบิ๊กดาต้าทำให้ผู้บริโภค มองว่าบิ๊กดาต้าไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ความเคยชินกับดาต้าทำให้ผู้บริโภคเริ่มมองหา บิ๊กดาต้าที่มีความน่าเชื่อถือผ่านช่องทางต่าง ๆ แบรนด์ต้องปรับเปลี่ยนการนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านบิ๊กดาต้าถึงผู้บริโภค เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ พร้อมสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งได้
ไวรัสโควิด 19 ยังได้เข้ามาเร่งพฤติกรรมการชำระเงินของผู้บริโภคเข้าสู่ Cashless Society จากความกลัวของผู้บริโภคที่ต้องสัมผัสเงินสดที่อาจจะมาพร้อมกับเชื้อโรคต่าง ๆ จนเกิดการใช้เงินสดดิจิทัลมากขึ้น ผ่านการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยแอปพลิเคชัน โมบาย แบงกิ้ง อีเพย์เมนต์ เครดิตการ์ด และอื่น ๆ นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ยังเกิดการใช้งานสินค้าในรูปแบบ Internet of Things รวมถึงประสบการณ์ Virtual Experience ในรูปแบบใหม่ ๆ
การใส่ใจเรื่องสุขอนามัยได้กลายมาเป็นกิจวัตรสำคัญของผู้บริโภค เทรนด์หลังไวรัสโควิด 19 จะเป็นบรรทัดฐานความรับผิดชอบต่อสังคมในเรื่องของสุขลักษณะที่จะเป็นเรื่องปกติในอนาคต รวมถึงระบบสาธารณสุขและการแพทย์ของประเทศจะพัฒนาทั้งในเรื่องของคุณภาพและความง่ายต่อการเข้าถึง สำหรับธุรกิจจะเห็นได้ว่าได้มีหลายๆ แบรนด์ต้องปรับกลยุทธ์ ที่แสดงให้เห็นว่าแบรนด์เข้าใจและเตรียมพร้อมในการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคในเรื่องความสะอาดและอนามัย
ความเสี่ยงในด้านการจัดหาพื้นที่เช่าสำหรับขยายสาขาใหม่และรักษาพื้นที่เช่าสำหรับสาขาเดิม
ก่อนเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำเลที่ตั้งของสาขาถือเป็นปัจจัย แห่งความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจร้านอาหารอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่ทวีความรุนแรง การกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ของโรคในหลายระลอกที่มีการปิดล๊อกดาวน์ ทำให้ร้านอาหารที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก บริษัทจึงต้องหาวิธีการต่างๆ เพื่อเข้าถึงลูกค้าได้มากที่สุด อาทิ Food Truck, Grab&Go, Kiosk เป็นต้น พื้นที่ตามสถานีบริการน้ำมันกลายเป็นพื้นที่เช่า ที่น่าสนใจสำหรับ Food Truck ในช่วงที่ผ่านมาซึ่งในการขยายพื้นที่ บริษัทได้วางแผนแสวงหาพื้นที่นอกศูนย์การค้า โดยขนาดของพื้นที่ที่ใช้ก็จะปรับเล็กลงตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงรักษาพื้นที่ในศูนย์การค้าที่อยู่ใกล้บริเวณสำนักงานและชุมชนที่ยังมีกำลังการซื้อที่ดี โดยยังรักษาและสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้ให้เช่าและในช่วงวิกฤตที่ผ่านมาได้เจรจาขอลดค่าเช่า ตลอดจนได้พิจารณาปรับลดขนาดพื้นที่ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบร้านให้สามารถรองรับและใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ลดผลกระทบได้ค่อนข้างมาก
ความเสี่ยงด้านต้นทุนจากการเสื่อมสภาพของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์
เนื่องจากในการดำเนินธุรกิจร้านอาหารนั้น บริษัทให้ความสำคัญกับคุณภาพ ความสดใหม่ของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์เป็นหลักสำคัญ มากกว่าร้อยละ 50 ของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ อันได้แก่ เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ผัก ผลไม้ และขนมปัง มีอายุการใช้งานสั้น จึงอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต หากขาดการบริหารจัดการและควบคุมการใช้วัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงทางด้านต้นทุน บริษัทได้กำหนดนโยบายการจัดซื้อวัตถุดิบจากผู้ขายที่มีมาตรฐานการผลิตที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบที่มีความสดใหม่และสามารถสอบกลับแหล่งที่มาได้ และมีข้อกำหนดขั้นตอน ในการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง ให้มีจำนวนที่เหมาะสมต่อการใช้งาน และจัดเก็บ ในอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อวัตถุดิบแต่ละประเภทเพื่อรักษาวัตถุดิบให้เป็นไปตามมาตรฐาน ที่ฝ่ายตรวจสอบคุณภาพได้ทำการศึกษาและกำหนดไว้ รวมถึงมีระบบการควบคุมสินค้าและวัตถุดิบคงคลังแบบ First-In-First-Out (FIFO)
ความเสี่ยงจากการมีแหล่งวัตถุดิบที่มีจำกัด
ในการจัดซื้อวัตถุดิบหลัก นอกจากจะคำนึงถึงคุณภาพและต้นทุนที่เหมาะสมแล้ว บริษัท ยังคำนึงถึงความเสี่ยงจากการขาดแคลนวัตถุดิบ รวมทั้งการส่งเสริมการแข่งขันในด้าน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผุ้ขายให้ดียิ่งขึ้น จึงกำหนดให้มีการซื้อวัตถุดิบจากกลุ่มของผู้ขาย ตามประเภทและลักษณะของวัตถุดิบให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องของวัตถุดิบนั้นๆ รวมทั้งมีการพัฒนาผู้ขายรายใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่า บริษัทจะไม่ประสบปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ และขาดอำนาจการต่อรองทั้งด้านราคาและคุณภาพ
ความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคาวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตสินค้า
จากการที่วัตถุดิบบางชนิดเป็นวัตถุดิบที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้บริโภค เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น โรคระบาดของพืชและสัตว์ที่เป็นวัตถุดิบหลัก ทำให้เกิดการขาดแคลนและราคามีความผันผวน อย่างไรก็ตาม บริษัทได้พิจารณาทำสัญญาระยะปานกลางและระยะยาวกับผู้ขายในกลุ่มวัตถุดิบหลักที่มีความสำคัญไว้เพื่อป้องกันปัญหาและผลกระทบจาก ความผันผวนข้างต้น
ความเสี่ยงด้านการแข่งขันทางธุรกิจ
เนื่องจากความนิยมในอาหารญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศไทย จึงทำให้ มีผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก และมีคู่แข่งบางรายเปิดร้านอาหาร แนวเดียวกับของบริษัทในทำเลที่ใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม บริษัทมีนโยบายแข่งขันทางด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ บริการ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ และการจัดกิจกรรมการตลาดรูปแบบต่าง ๆ โดยไม่เน้นการตัดราคา ทั้งนี้ บริษัทคำนึงถึงคุณภาพอาหาร และใส่ใจในสุขภาพของผู้บริโภคเป็นสำคัญ อีกทั้งบริษัทมีความเชื่อว่ายิ่งการแข่งขันมีมากเท่าใดย่อมส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอาหารมากขึ้นเท่านั้น เพราะจะทำให้การเติบโต ของตลาดในธุรกิจประเภทนี้เติบโตมากยิ่งขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลทำให้ธุรกิจของบริษัทเติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน
ความเสี่ยงจากผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ
ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะเศรษฐกิจสามารถเกิดขึ้นได้และอาจมีผลกระทบ ต่อระดับการบริโภคและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จากความผันผวนและความไม่แน่นอน ของสภาวะเศรษฐกิจในบางช่วงส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในด้านต่าง ๆ อาทิ ต้นทุนวัตถุดิบ และค่าแรงที่ปรับตัวขึ้น ทำให้ผู้ผลิตต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รวมถึง ภาระรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของครัวเรือนทั่วประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อกำลังการซื้อของผู้บริโภคที่ลดน้อยลง สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อ ผลประกอบการโดยรวมของธุรกิจอาหาร อย่างไรก็ดี แม้บริษัทจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยความเสี่ยงดังกล่าวแต่จากการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกำหนดกลยุทธ์ และแนวทางการตลาดที่เหมาะสมทำให้บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าว อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี แม้บริษัทจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยความเสี่ยงดังกล่าว แต่จากการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกำหนดกลยุทธ์และแนวทางการตลาด ที่เหมาะสมทำให้บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ
ความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19
“กินร้อน ช้อนส่วนตัว ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างทางสังคม” เป็นประโยคที่เราได้ยินกันอย่างคุ้นหู รวมไปถึงการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตมาอยู่ที่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 หลายธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก อย่างเช่น ธุรกิจร้านอาหารที่ต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหม่ หลายร้านต้องปรับตัว เพื่อสนองตอบความต้องการของลูกค้าและฝ่าวิกฤติธุรกิจครั้งนี้ไปให้ได้ นี่คือรูปแบบ การปรับตัวของร้านอาหารให้พร้อมกับ new normal ในยุคไวรัสโควิด 19 ธุรกิจร้านอาหาร ต้องเผชิญกับปัจจัยลบหลากหลาย ทั้งการระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลง และยังเกิดระลอกใหม่ได้เสมอ ประกอบกับการออกมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดในช่วงที่ผ่านมา การหยุดชะงักของภาคการท่องเที่ยวจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทยที่ลดลงอย่างหนัก การงดเดินทางข้ามจังหวัดในบางเขตพื้นที่ อีกทั้งปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอันเป็นผลจากการที่ภาคธุรกิจต่าง ๆ ต้องปิดตัวลงชั่วคราว ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังความเชื่อมั่นในการมีงานทำและกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ทำให้ภาคธุรกิจและผู้บริโภคจะมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย มีกำลังซื้อที่อ่อนแรง จากปัจจัยกดดันข้างต้น
ผู้ประกอบการร้านอาหารเองยังต้องเจอโจทย์ที่ท้าทายที่ต้องปรับตัว เนื่องจากผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลไม่เพียงแต่จำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ยต่อวัน ที่ลดลง แต่คาดว่ามูลค่าการใช้บริการต่อมื้อของผู้บริโภคก็น่าจะมีการหดตัวอีกด้วย ทำให้เกิดผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการ ขณะที่ต้นทุนการประกอบธุรกิจที่เพิ่มขึ้น จากต้นทุนแฝงที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้สามารถรองรับช่องทางการสร้างรายได้เพิ่มเติม หรือค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์ทำความสะอาดและป้องกันตามมาตรการ เป็นต้น การประกาศมาตรการต่างๆ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ส่งผลกระทบต่อร้านอาหารเกือบทุกประเภท แต่มิติความรุนแรงของผลกระทบจะแตกต่างกันตามรูปแบบของการให้บริการของร้านอาหาร ร้านอาหารที่มีบริการจำกัดที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าและสถานที่ท่องเที่ยวและให้บริการเฉพาะ Dine in จะยังมีแนวโน้มเผชิญความท้าทายสูง โดยในฝั่งรายได้จะยังมีการหดตัวลงต่อเนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หลีกเลี่ยงหรือลดการทำกิจกรรมพบปะสังสรรค์ออกไปอีกระยะ เงื่อนไขดังกล่าวไม่เพียงแต่ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการสร้างรายได้ภายในร้าน แต่ยังส่งผลให้เกิดต้นทุนแฝงเพิ่มขึ้นจากทั้งค่าเสียโอกาสและความผันผวนของวัตถุดิบที่ต้องสั่งซื้อ
นอกจากปัจจัยที่กล่าวข้างต้นพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพื่อลดความเสี่ยง ในการติดเชื้อ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของร้านอาหารส่วนใหญ่เช่นกัน จากการที่ผู้ประกอบการมีรายได้และกำไรลดลงจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไปยังความเป็นอยู่และรายได้ของพนักงานในร้านอีกด้วย โดยพฤติกรรมหลัก ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านอาหาร ได้แก่ การหลีกเลี่ยงการออกไปในที่สาธารณะ และใช้เวลาที่บ้าน มากขึ้น สั่งอาหารเดลิเวอรี่มากขึ้น เลือกทานอาหารในร้านที่คนไม่แออัด และซื้ออาหารสำเร็จรูปกลับไปทานที่บ้านแทน
ธุรกิจอาหารพร้อมปรุงและพร้อมทาน
ความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคาวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตสินค้า
เนื่องจากปัจจุบันจำนวนยอดขายของอาหารพร้อมปรุงและพร้อมทานที่จำหน่ายนั้น ยังมีส่วนแบ่งทางการตลาดไม่สูงนักเมื่อเทียบกับขนาดของตลาดโดยรวม ทำให้การบริหารจัดการ ด้านการผลิตสินค้าของโรงงานอุตสาหกรรมของกลุ่มบริษัทโออิชิ ยังไม่สามารถทำได้ถึงกำลังการผลิตสูงสุด ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพโดยรวม และต้นทุนของสินค้าสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม บริษัทได้กำหนดแนวทางให้ทุกหน่วยงาน มีเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกัน และยกระดับการทำงานทั้งการเพิ่มยอดขาย และการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการกำลังการผลิต ควบคุมต้นทุน และค่าใช้จ่าย ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงได้พิจารณาทำสัญญาระยะปานกลางและระยะยาวกับผู้ขายในกลุ่มวัตถุดิบหลัก ที่มีความสำคัญไว้เพื่อป้องกันปัญหาและผลกระทบจากความผันผวนข้างต้น รวมไปถึงมุ่งเน้นการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างยอดขายและนำไปสู่การช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการผลิตและส่งเสริมให้มีความสามารถในการแข่งขันต่อไป เพื่อสร้างยอดขายและนำไปสู่การช่วยลดต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ลงอีกด้วย
ความเสี่ยงด้านการแข่งขันทางธุรกิจ
สำหรับธุรกิจอาหารพร้อมปรุงและพร้อมทาน มีสภาวะการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรง โดยเฉพาะการที่เจ้าของธุรกิจในช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าหันมาผลิตสินค้าภายใต้ ตราสินค้าของตนเอง ส่งผลให้ผู้ขายสินค้านอกจากจะต้องวิจัยและพัฒนาเพื่อแข่งขัน ด้านผลิตภัณฑ์แล้วยังต้องเพิ่มภาระด้านการต่อรองเรื่องเงื่อนไขการค้าต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการลดและป้องกันความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าว กลุ่มบริษัทโออิชิ จึงให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และรักษาคุณภาพของสินค้า รวมถึงเน้นการสร้างตราสินค้าให้เป็นที่รู้จักและสร้างความเชื่อมั่นในตราสินค้าของบริษัทให้มากยิ่งขึ้น
ความเสี่ยงด้านการพัฒนาสินค้าใหม่
เนื่องจากอาหารพร้อมปรุงและพร้อมทานที่จำหน่ายในปัจจุบันมีช่องทางการจัดจำหน่าย ผ่านร้านสะดวกซื้อเป็นหลัก ด้วยวิถีชีวิตคนยุคใหม่ที่เร่งรีบทำให้การพัฒนาสินค้าต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และคำนึงถึงความสะดวกสบายในการรับประทานด้วยการอุ่นร้อนจากไมโครเวฟ แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคบางส่วนได้เปลี่ยนแปลงไป ด้วยการหันมาซื้ออาหารพร้อมปรุงมากขึ้น ฝ่ายวิจัยและพัฒนาจึงให้ความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมสินค้าและผลิตภัณฑ์เพื่อให้สามารถตอบสนองได้ตรงและทันต่อความต้องการและกระแสการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้บริโภคได้
ความเสี่ยงด้านช่องทางการจัดจำหน่าย
ด้วยการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่มีอยู่ในปัจจุบันยังคงพึ่งพาช่องทาง การจัดจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อเป็นสำคัญ ทำให้เกิดข้อจำกัดด้านการต่อรองและผลประโยชน์ที่ควรได้รับจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้พยายามลดข้อจำกัดที่เกิดขึ้นดังกล่าวด้วยการขยายฐานการจัดจำหน่ายและสร้างการเติบโตของยอดขายในช่องทางการจัดจำหน่ายอื่น ๆ เช่น ช่องทางการจัดจำหน่ายสมัยใหม่ หรือ Modern Trade ได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งช่องทางออนไลน์ที่นับว่าเป็นช่องทางที่มีการเติบโตอย่างมากในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 นี้ ทั้งช่องทางออนไลน์ของ Modern Trade เองหรือ platform ผู้ให้บริการใหม่ๆ ในปัจจุบัน ที่บริษัทต้องเร่งดำเนินการขยายในช่องทางนี้ เพื่อลดการเสียโอกาสในการจำหน่าย ช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีศักยภาพ อันได้แก่ ช่องทาง Food Service และช่องทาง การจัดจำหน่ายในต่างประเทศ เป็นต้น
ความเสี่ยงด้านโลจิสติกส์
เนื่องจากผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุงและพร้อมทานที่บริษัทผลิตและจัดจำหน่าย ในปัจจุบันอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์อาหารแช่เย็นหรือแช่แข็ง ดังนั้น กระบวนการจัดเก็บรักษาภายหลังการผลิต และการขนส่งที่สามารถคงคุณภาพและรสชาติของสินค้า ให้มีสภาพและรสชาติที่ดีได้มาตรฐานจนถึงมือผู้บริโภคจึงมีความสำคัญยิ่ง ประกอบกับอัตราการเติบโตของธุรกิจที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทจึงควรมุ่งเน้น ให้ความสำคัญและเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ อาทิ การเตรียมแผนงานการขยายพื้นที่คลังสินค้าแช่เย็นเพื่อการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ให้มีความเหมาะสมก่อนการจัดส่งออกไปจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ จัดเตรียมซัพพลายเออร์ทางเลือกในกรณีที่ผู้ผลิตไม่สามารถส่งวัตถุดิบ ได้ทบทวนแผนงานและระยะเวลาการสั่งซื้อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และติดตามระบบการขนส่งสินค้าแช่เย็นและแช่แข็งร่วมกับ ผู้ให้บริการ เพื่อให้มีความพร้อมเหมาะสม และสามารถรองรับการเติบโตของกลุ่มธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นการป้องกัน ลดผลกระทบและความเสี่ยงในด้านดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย
ความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจในความสะอาดและสุขอนามัยมากขึ้น จึงทำให้ผู้บริโภคพิถีพิถันในการเลือกซื้อสินค้าจากช่องทางและผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุงและพร้อมทานของบริษัทผลิตจากโรงงานที่มีประสิทธิภาพสูงได้รับการรับรองคุณภาพและความปลอดภัยในการผลิตตามหลักมาตรฐานสากล บรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีการทดสอบด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ยิ่งไปกว่านั้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 นี้ ทางบริษัทยังเพิ่มมาตรการความปลอดภัยมากขึ้นในโรงงานการผลิต ทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุงและพร้อมทานของบริษัท สะอาด ปลอดภัย จนถึงมือผู้บริโภค
นอกจากความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น ธุรกิจโดยทั่วไปของบริษัทต้องเผชิญกับความเสี่ยงดังต่อไปนี้ด้วยเช่นกัน
ความเสี่ยงของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล
ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการแข่งขันทางธุรกิจ ในหลายๆ ด้าน ทั้งการสื่อสาร การจัดเก็บ การประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงเป็นส่วนหนึ่ง ของการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นการประเมินความเสี่ยงในด้านนี้และการวางแผนรับมือความเสี่ยง ที่เกิดขึ้นจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยประเด็นความเสี่ยงที่ยังถือว่ามีความสำคัญที่สุด คือ ความเสี่ยงจากการคุกคามด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ซึ่งมีผลกระทบในวงกว้าง ตั้งแต่ระบบงานต่าง ๆ ไปจนถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน ผลกระทบต่อมาคือความมั่นคงและปลอดภัยของข้อมูล สำหรับประเด็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นคือ กรณีการละเมิดกฎหมายเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่อาจเกิดการตรวจสอบจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อันส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มบริษัทโออิชิได้
โดยคำนึงถึงความเสี่ยงในด้านดังกล่าว กลุ่มบริษัทโออิชิจึงได้เตรียมแผนงาน ระบบ และมาตรการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากความเสี่ยงในด้านดังกล่าว ได้แก่
-
กำหนดให้มีนโยบายสารสนเทศของกลุ่มบริษัทโออิชิ ประกอบด้วยแนวทางปฏิบัติในการใช้งาน การกำกับดูแล การป้องกันรักษาความปลอดภัย และบทกำหนดโทษ รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและดิจิทัลที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน การสร้างความตระหนักรู้และรับผิดชอบเกี่ยวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ให้กับพนักงานอย่างต่อเนื่องผ่านการแจ้งข่าวสารผ่านระบบอีเมล์ การอบรมและจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้พนักงานมีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีอย่างถูกต้องที่ไม่ละเมิดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมีความปลอดภัยของข้อมูลเพื่อป้องกันการถูกคุกคามทางไซเบอร์ รวมถึงคุณและโทษ จากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่จะส่งผลกระทบต่อสังคม
-
การสร้างระบบป้องกันความปลอดภัยตั้งแต่ระบบเครือข่ายจนถึงเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากบุคคลภายนอก
-
ระดับเครือข่ายมีการสร้างไฟร์วอลล์ (Firewall) เพื่อป้องกันและตรวจสอบ ให้มีการรับส่งข้อมูลในช่องทางที่กำหนดกับปลายทางที่อนุญาตเท่านั้น
-
ระดับอุปกรณ์มีการติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่อง และมีการเชื่อมต่อมาที่ส่วนกลางเพื่อสามารถควบคุม และแก้ไขเครื่องที่มีปัญหาได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว พร้อมทั้งยังสามารถหาสาเหตุของการ ถูกคุกคาม เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำในครั้งต่อไป
-
-
การกำหนดสิทธิการใช้งานระบบต่าง ๆ ของพนักงาน เพื่อการจําแนกชั้นความลับและ การจัดการข้อมูล เพื่อให้การเข้าถึงข้อมูลเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการใช้งานและ ตามความจำเป็น อันจะเป็นการป้องกันการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นความลับและการจารกรรมข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ รวมถึงกำหนดให้มีระบบการบันทึกการเข้าใช้งานเพื่อให้สามารถตรวจสอบการเข้าถึงข้อมูลในระบบต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
-
การมีศูนย์ข้อมูล (Data Center) และการสำรองข้อมูลที่สำคัญ เพื่อให้สามารถนำข้อมูล มาใช้งานได้เมื่อระบบหลักมีปัญหา ส่งผลให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง
-
การเก็บข้อมูลการใช้งานเครือข่ายตามข้อบังคับของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และมีการกำกับดูแลการเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีความเสี่ยง ต่อการถูกจารกรรมข้อมูล หรือกระทำผิดกฎหมาย
-
การติดตั้งโปรแกรมเพื่อตรวจสอบการใช้งานโปรแกรมที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายในเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่อง เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาต่าง ๆ ในส่วนของระบบเครื่องแม่ข่าย (Server) มีการตรวจสอบสิทธิการใช้งานและ License รวมถึงดำเนินการต่ออายุการใช้งานทุกปี เพื่อให้มั่นใจว่าระบบทั้งหมดของกลุ่มบริษัทโออิชิมีการใช้โปรแกรมที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น
-
การเพิ่มระบบบันทึกและติดตามการแก้ไขปัญหาของเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสารสนเทศ เพื่อให้หน่วยงานที่ดูแลเรื่องดังกล่าวสามารถสื่อสาร กับผู้ใช้งานและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ บริษัทยังได้กำหนดขั้นตอนและมาตรการรองรับในส่วนของ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูล ส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (Personal Data Protection Act – PDPA) โดยกำหนดมาตรการในการเก็บ ใช้ เปิดเผย และถ่ายโอนข้อมูลส่วนบุคคล ที่ต้องได้รับความยินยอมและเป็นไปตามที่ พ.ร.บ. กำหนด
ความเสี่ยงเกี่ยวกับชื่อเสียงของบริษัท
ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ขององค์กรคือหนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยเฉพาะธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ชื่อเสียงมีความสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อค่อนข้างมาก กลุ่มบริษัทโออิชิจึงตระหนักถึงความสำคัญของชื่อเสียงและภาพลักษณ์ มาโดยตลอด โดยดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ รวมถึงใส่ใจ ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ชุมชน สังคม และประเทศชาติ แต่อย่างไรก็ตาม บางครั้งบริษัทไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยภายนอกที่มากระทบต่อชื่อเสียงของบริษัท เช่น การเกิดข่าวเชิงลบ โดยเฉพาะในยุคที่สื่อออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลเป็นอย่างมากในโลกปัจจุบัน สื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นช่องทาง การสื่อสารที่ผู้บริโภคนิยมใช้สื่อสารและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสินค้าและบริการ และเมื่อในกรณีที่ตกเป็นข่าวเชิงลบ เนื้อหาข่าวสารในช่องทางดังกล่าวสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วในวงกว้าง และอาจส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัทและภาพลักษณ์ขององค์กร ดังนั้น บริษัท จึงมีนโยบายและแนวทางดำเนินการรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นดังนี้
-
จัดให้มีคณะทำงาน (Crisis Management Team) ที่ดูแลเหตุการณ์ที่อาจเป็นความเสี่ยงต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ขององค์กร เพื่อกำหนดแนวทางดำเนินการและแก้ปัญหา อย่างเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์
-
มีระบบและกระบวนการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ทันเหตุการณ์ พร้อมใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่สะดวก รวดเร็ว ทันสมัย เพื่อประเมินความเคลื่อนไหว ความพึงพอใจ และความคาดหวังของผู้บริโภค พร้อมตอบกลับอย่างชัดเจนและรวดเร็วในกรณีที่ผู้บริโภคต้องการคำชี้แจง
-
มีการจัดกิจกรรมและเผยแพร่ข่าวสารที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ และตอกย้ำความเป็นองค์กรที่ดี มีความรับผิดชอบ สร้างความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจแก่ลูกค้าและผู้บริโภค
ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์
กลุ่มบริษัทโออิชิได้เริ่มดำเนินการตามแผน “วิสัยทัศน์ 2025” เพื่อเติบโตและก้าวเป็นบริษัทอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งแม้ว่าบริษัทจะได้มีการพิจารณาและวางแผนอย่างถี่ถ้วนและรอบคอบ แต่อาจมีปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่ส่งผลกระทบให้บริษัทไม่สามารถดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ อันจะกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัททำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้มีการจัดทำแผนการดำเนินงานประจำปีซึ่งสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัท โดยคณะกรรมการบริษัทมีส่วนร่วมในการพิจารณากลั่นกรองและอนุมัติแผนการดำเนินการดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีการติดตามประเมินผลในทุกขั้นตอนอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามแผนงานและกลยุทธ์ที่กำหนดไว้ และมีการทบทวนแผนกลยุทธ์อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สามารถปรับกลยุทธ์และการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ที่เปลี่ยนแปลงไป
ความเสี่ยงจากการพึ่งพิงผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือบริษัทในกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่
กลุ่มบริษัทโออิชิมีสัดส่วนการจัดจำหน่ายผ่านบริษัทในกลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (“กลุ่มบริษัท”) คิดเป็นประมาณร้อยละ 90 ของยอดขายรวมของธุรกิจเครื่องดื่ม ซึ่งถือเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมพื้นที่การให้บริการมากที่สุดช่องทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทโดยมีสัดส่วนการถือหุ้นประมาณร้อยละ 79.66 ดังนั้น การจัดจำหน่ายสินค้า ในกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มจึงมีลักษณะพึ่งพิงบริษัทในกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงและผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทได้ หากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือหากการจัดจำหน่ายสินค้าของบริษัทไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากลุ่มบริษัทโออิชิได้รับความร่วมมือทางธุรกิจจากกลุ่มบริษัท เป็นอย่างดีและมีวิธีการทำงานที่มีระเบียบแบบแผนสากลอันเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป อีกทั้ง การจัดจำหน่ายสินค้าผ่านเครือข่ายกลุ่มบริษัทของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ยังถือได้ว่าเป็นการบริหารจัดการและจัดสรรทรัพยากรให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทและผู้ถือหุ้นทุกฝ่าย นอกจากนี้ บริษัทยังได้มีการเข้าทำสัญญาการจัดจำหน่ายระยะกลางอย่างเป็นทางการกับกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ กลุ่มบริษัทยังคงต้องเป็นผู้จัดจำหน่ายให้บริษัทต่อไปจนหมดสัญญา ทำให้บริษัทมีเวลาในการสรรหาและแต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายรายใหม่ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท
ความเสี่ยงต่อการลงทุนของผู้ถือหลักทรัพย์
ความเสี่ยงจากการมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่มีอำนาจกำหนดนโยบายการบริหาร
ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือไทยเบฟเวอเรจ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นประมาณร้อยละ 79.66 ของทุนชำระแล้ว ด้วยสถานะดังกล่าวทำให้ไทยเบฟเวอเรจสามารถควบคุมมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ในเรื่องต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งกรรมการ หรือการขอมติในเรื่องอื่นที่ต้องใช้เสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ตลอดจนเรื่องที่กฎหมายหรือข้อบังคับบริษัทกำหนดให้ต้องได้รับเสียง 3 ใน 4 ของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ดังนั้น ผู้ถือหุ้นรายอื่นของบริษัทอาจมีความเสี่ยงจากการไม่สามารถรวบรวมคะแนนเสียงเพื่อถ่วงดุลเรื่องที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่เสนอได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี บริษัทได้จัดโครงสร้างการบริหารจัดการซึ่งประกอบไปด้วยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และได้กำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่อย่างชัดเจน รวมถึง มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งประกอบด้วยกรรมการอิสระที่ไม่มีส่วนได้เสียกับบริษัท 3 ท่าน เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัท และดูแลผลประโยชน์ของ ผู้ถือหุ้นรายย่อยได้อย่างเพียงพอ ซึ่งทำให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจในการบริหารจัดการ ในระดับที่เหมาะสมและสามารถตรวจสอบได้
(2) ความเสี่ยงจากการที่จำนวนหุ้นของบริษัทที่ซื้อขายหมุนเวียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“Free float”) ค่อนข้างต่ำ ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 บริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อยคิดเป็นร้อยละ 20.34 ซึ่งอาจทำให้มีสภาพคล่องในการซื้อขายหลักทรัพย์ไม่มากนัก ผู้ถือหุ้นจึงมีความเสี่ยงที่อาจจะไม่สามารถขายหุ้นของบริษัทได้ทันทีในราคาที่ต้องการ
อย่างไรก็ดี บริษัทจะติดตามและดำรงสภาพคล่องของ Free float ให้มีความเหมาะสม ต่อผู้ถือหุ้นต่อไป